ความหมาย
โรคความดันโลหิตสูง (hypertension; HT) หมายถึง ระดับความดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจห้องล่างบีบตัวเต็มที่ (systolic blood pressure; SBP) ≥ 140 มม.ปรอท หรือ ระดับความดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจห้องล่างคลายตัวเต็มที่ (diastolic blood pressure; DBP) ≥ 90 มม.ปรอท
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง มีดังนี้
- ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย การสูบบุหรี่และดื่มสุรา และการมีน้ำหนักเกิน (BMI = 25-29.9) หรือมีภาวะอ้วน (BMI ≥ 30)
- ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ> 65 ปี และเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย หรือมีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) เป็นโรคความดันโลหิตสูง
อาการที่พบได้บ่อยของโรคความดันโลหิตสูง
อาการปวดศีรษะในตอนเช้า เลือดกำเดาไหล การมองเห็นเปลี่ยนไป ได้ยินเสียงเหมือนมีแมลงบินอยู่ในหู หากความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก เป็นต้น
การควบคุมความดันโลหิตสูง ควรควบคุมให้ระดับความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มม.ปรอท
การจัดการ/การควบคุมโรคความดันโลหิต
- จำกัดปริมาณการรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2 กรัม (เกลือแกง 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 2 กรัม น้ำปลา/ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 350-500 มก. และผงชูรส 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 500 มก.)
- รับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ครบ 5 หมู่ โดยใช้สูตรเมนูอาหารตามแนวทางของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คือ สูตร 2:1:1 ประกอบด้วย ผักอย่างน้อย 2 ชนิด 2 ส่วน ข้าวหรืออาหารประเภทแป้ง 1 ส่วน และโปรตีนที่เป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและเนื้อปลา 1 ส่วน และมีผลไม้รสหวานน้อยรับประทานร่วมด้วยในทุกมื้ออาหาร
- หากรับประทานอาหารนอกบ้าน ไม่ควรปรุงรสชาติเพิ่ม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิค ≥ 5 วัน/สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ลด/จัดการกับความเครียด
- ควรรับประทานยาลดความดันโลหิตตามแผนการรักษาของแพทย์ ไม่ปรับเพิ่มหรือลดยาเอง และไปตรวจตามนัดทุกครั้ง
