“หากเครียดมากไป…โรคภัยอาจถามหา”
“ความเครียด” สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเครียดระดับเล็กน้อยนั้น จะช่วยให้เกิดความตื่นตัว และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ แต่หากมีความเครียดที่มากจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงการทำงานได้
ความเครียดคืออะไร?
ความเครียด (Stress) หมายถึง สภาพจิตใจและอารมณ์ของบุคคลที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ในชีวิต หรือความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกินกว่ากำลังที่มีอยู่ และเกินความสามารถที่จะแก้ไขได้
ความเครียดเกิดจากอะไร?
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียด มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก คือ (1) ปัญหาในชีวิต เช่น การเงิน การทำงาน ครอบครัว สุขภาพ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นต้น (2) การคิดและการประเมินสถานการณ์ของบุคคล เช่น การคิดแต่เรื่องเชิงลบ ใจร้อน เอาจริงเอาจังกับชีวิตมากจนเกินไป ไม่มีแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา เป็นต้น
อาการแบบไหน จึงจะเรียกว่าเครียด?
อาการบ่งชี้ของความเครียดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้
1) ด้านร่างกาย ได้แก่ หายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ปวด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
2) ด้านจิตใจและอารมณ์ ได้แก่ รู้สึกวิตกกังวล กลัว ตื่นเต้น ไม่มีสมาธิ โกรธง่าย มีความคิดด้านลบ เหนื่อยง่าย และท้อแท้ เป็นต้น
3) ด้านพฤติกรรม ได้แก่ นอนไม่หลับ/นอนหลับมากเกินไป เบื่ออาหาร/รับประทานอาหารมากเกินไป มีความอยากสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น
4) ด้านสังคม ได้แก่ ไม่อยากพบปะผู้คน เบื่อหน่ายในงาน และมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
แล้วจะทำอย่างไร หากความเครียดมาเยือน?
- บริหารจัดการเวลา โดยเรียงลำดับการทำงานตามความสำคัญหรือความเร่งด่วนของงาน
- พูดคุยกับผู้ร่วมงานและบุคคลรอบข้างด้วยความเป็นมิตร
- แบ่งเวลาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ได้แก่ การฟังเพลง นั่งสมาธิอยู่กับลมหายใจ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อน ทำบุญเป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนความคิด มุมมอง และทัศนคติในแง่บวก
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีสรรพคุณช่วยคลายเครียด เช่น น้ำขิงร้อน ผัก ผลไม้จำพวกส้ม ฝรั่ง มะนาว ตำลึง ผักขม เป็นต้น
- สร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้ตนเอง โดยชื่นชมตนเองทุกครั้งเมื่อทำอะไรสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
- หาสาเหตุของความเครียด และแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี ไม่ใช้อารมณ์ สุรา หรือสิ่งเสพติดในการระบายความเครียด
หากพบว่ามีความเครียดมาก สามารถขอรับบริการที่คลินิกคลายเครียดหรือบริการให้คำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง