วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 รองศาสตราจารย์ นพ.รณภพ เอื้อพันธเศรษฐ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการอบรมโครงการพิชิตอ้วน เราทำได้ (CMU Smart Body) ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสุขภาพอย่างอัจฉริยะและยั่งยืน (Smart and Sustainable Healthy Chiang Mai University (Healthy CMU)) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐธยาน์ สุวรรณคฤหาสน์ ประธานโครงการพิซิตอ้วน เราทำได้ กล่าวรายงานและชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ผ่านทาง ZOOM Cloud Meetings
จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากผลการสำรวจข้อมูลการประเมินความเสี่ยงสุขภาพจากระบบ CMU i-Health ของบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563 พบว่า บุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ ร้อยละ 34 มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน ร้อยละ 19 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ ร้อยละ 15 และออกกำลังกาย ร้อยละ 15 ซึ่งจะเห็นว่าบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีภาวะน้ำหนักเกินและพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานและสุขภาพได้ คณะพยาบาลศาสตร์จึงได้ริเริ่มโครงการพิชิตอ้วน เราทำได้ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความรู้ทักษะในการจัดการกับภาวะอ้วน และการติดตามความก้าวหน้าในการลดภาวะอ้วนภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการที่ทำให้ภาวะอ้วนเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น และช่วยลดการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ปวดหลัง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โครงการพิชิตอ้วน เราทำได้ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยคณะทำงานได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติจำนวน 40 คน สำหรับการอบรมในครั้งแรกนี้ มีการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตามหัวข้อ ดังนี้
– รู้จักภาวะอ้วนลงพุง ระบบการเผาผลาญและวิธีการซ่อมแซม
โดย อาจารย์สุทธินันท์ คอดริงตัน กลุ่มวิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ และ อาจารย์ศิรินทิพย์ ภูวยานนท์ กลุ่มวิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์
– กิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ไชยสุรินทร์ กลุ่มวิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์
– อาหารแลกเปลี่ยน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐธยาน์ สุวรรณคฤหาสน์ กลุ่มวิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์
ภายหลังจากการอบรมในระยะที่ 1 ซึ่งมีกำหนดจัดในวันเสาร์ที่ 7 และ 14 พฤษภาคม 2565 รวมถึงการตรวจร่างกายก่อนเริ่มโครงการนั้น ในระยะที่ 2 ผู้เข้าร่วมโครงการต้องนำทักษะมาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน โดยจะมีการติดตามผล นัดหมายพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกวันเสาร์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. เป็นระยะเวลา 2 เดือน ทางออนไลน์ จากนั้น จะประเมินสภาพร่างกายภายหลังเข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายดังนี้
– ผู้เข้าร่วมโครงการมีส่วนประกอบของร่างกาย (Body Composition) ลดลง ประกอบด้วย น้ำหนัก (Weight) มวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ไม่รวมไขมัน (Skeletal Muscle Mass) มวลไขมัน (Body Fat Mass) ปริมาณน้ำทั้งหมดในร่างกาย (Total Body Water) มวลรวมของร่างกาย
– ผู้เข้าร่วมโครงการมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index [BMI]) ลดลง
– ผู้เข้าร่วมโครงการมีอัตราส่วนระหว่างเอวกับสะโพกลดลง
– ผู้เข้าร่วมโครงการมีอัตราการเผาผลาญพลังงาน (Basal Metabolic Rate [BMR]) ปกติ
– ผู้เข้าร่วมโครงการบริโภคอาหารและจำนวนแคลอรี่ได้ตามเป้าหมาย
– ผู้เข้าร่วมโครงการทำกิจกรรมทางกายได้ตามเป้าหมาย
– ร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ (Healthy University)
สุขภาพดีเริ่มต้นได้ที่นี่ #HealthyCMU
Facebook Page: Healthy CMU (https://bit.ly/healthycmu)
Line Official Account: @healthycmu (https://lin.ee/2B62H4aZe)
YouTube: Healthy CMU (https://bit.ly/healthycmuyt)
Website: www.healthycmu.com










